“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ยังใช้กับสังคมปัจจุบันได้ไหม หรือแท้ที่จริงแล้วการดุ การตี เจ้าตัวน้อย กลับทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจเขาไปแสนนาน ครั้งนี้มีหนังสือดีๆเกี่ยวกับการสร้างวินัยเชิงบวกมานำเสนอกัน หนังสือที่มีชื่อว่า “101 เคล็ดวิธี สร้างเด็กดี มีความสุข”
การนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ จะเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผู้เขียนทั้งสองคน ที่ประสบพบเจอมา กับการจัดการเจ้าเด็กน้อยตัวป่วนทั้งหลาย แล้วก็สอดแทรกเนื้อหาด้านจิตวิทยาการสร้างวินัยเชิงบวกสำหรับเด็ก ที่ทั้งสองไปเรียนไกลถึงต่างประเทศ ว่าเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องทำอย่างไร แบบไหนน่าจะดีกว่ากัน ซึ่งผมเองลองปฏิบัติตามแล้วเล็กน้อย ก็เห็นว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ทำได้จริง ทำให้เด็กมีความสุข อีกทั้งทำให้เราสุขด้วย (แต่ก็ต้องอาศัยเวลากันบ้าง)
ตัวอย่างหลักการง่ายๆในหนังสือ
1. หลักการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ - การให้ความสนใจเชิงบวกกับเด็ก ๆ เวลาที่เด็ก ๆ กำลังมีพฤติกรรมที่คุณครูต้องการ เช่น ชมเชย ขอบคุณ กอด
2. หลักการเบี่ยงเบนกิจกรรม - การที่คุณครูเสนอกิจกรรมอย่างหนึ่งให้เด็กทำแทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก เพื่อที่เด็กจะได้ไม่สามารถทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไปได้ เช่น คุณครูสามาถทำให้เด็กคนนั้นหยุดตะโกนได้โดยการชวนเด็ก ๆ เล่นร้องเพลงกระซิบ
3. หลักการให้ทางเลือกเชิงบวกแก่เด็ก - การที่คุณครูเสนอทางเลือกที่คุณครูยอมรับได้ให้เด็ก 2 ทาง และให้โอกาสให้เด็กตัดสินใจเลือกว่าจะทำตามทางเลืกไหน เช่น จะให้ครูหม่อม หรือ ครูใหม่อาบน้ำให้คะ?
4. หลักการอะไรก่อน อะไรหลัง - การบอกเด็ก ๆ ให้ทำสิ่งที่เด็กจำเป็นต้องทำให้เสร็จก่อน แล้วถึงจะอนุญาติให้เด็กทำในสิ่งที่พวกเค้าต้องการ เช่น เมื่อทานข้าวเสร็จแล้ว ไปเล่นกับเพื่อนได้ค่ะ
5. หลักการแสดงความเข้าใจ - การอธิบายให้เด็ก ๆรู้ว่าเราเข้าใจว่าพวกเค้ากำลังต้องการอะไร หรือกำลังมีความรู้สึกอย่างไร และบอกเด็กถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น คุณครูรู้ค่ะว่าหนูไม่อยากหยุดเล่นเกมส์ คุณครูไม่ว่าอะไร เพราะถ้าเป็นคุณครู คุณครูก็คงจะรู้สึกเหมือนหนูเช่นกัน แต่เมื่อสักครู่คุณครูได้ยินเสียงสัญญาณบอกเวลาเข้าแถวไปห้องกิจกรรมแล้วค่ะ
6. หลักการให้ความสำคัญ - การทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าเค้าเป็นคนสำคัญโดยการมอบหมายหน้าที่สำคัญให้เด็กได้รับผิดชอบ และพูดชมเชยเด็ก ๆ ว่า สิ่งต่างๆจะเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพวกเค้า เช่น คุณครูต้องขอบใจมีมี่มากที่ช่วยคุณครูแจกนมให้กับเพื่อน ๆ ถ้าไม่มีมีมี่คุณครูคงแจกนมเสร็จช้ากว่านี้ และเพื่อน ๆ คงได้ดื่มนมช้ากว่านี้
7. หลักการมองตา - การที่คุณครูนั่งลดระดับลงมาในระดับสายตาของเด็ก และใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลเวลาพูดคุยกับเด็ก ๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับเด็ก ๆ และทำให้พวกเค้ารู้สึกอบอุ่น และเป็นมิตรเวลาที่อยู่กับคุณครู
8. หลักการส่งความรู้สึก - การอธิบายด้วยน้ำเสียงปกติเรารู้สึกอย่างไรกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก และพฤติกรรมที่เราต้องการให้เด็กปฏิบัติแทนคืออะไร เช่น คุณครูรู้สึกไม่ชอบเลยค่ะ เวลาน้องมายด์อ่านหนังสือนิทานเสร็จแล้ววางเอาไว้ที่พื้น มันทำให้ห้องเรียนของเราดูรกและสกปรก คุณครูต้องการให้น้องมายด์เอาหนังสือเก็บเข้าที่ค่ะ
9. หลักการกระซิบ - การใช้เสียงกระซิบ หรือใช้เสียงเบา ๆ เมื่อต้องการเรียกความสนใจจากเด็ก ๆ และควบคุมให้ห้องเรียนมีความปกติ คุณครูอาจจะพูดเบา ๆ หรือร้องเพลงเบา ๆ ก็ได้
10. หลักการตั้งเวลา - คือ การใช้เสียงเสียงของเครื่องจับเวลาเป็นสัญญานบอกเด็ก ๆว่าถึงเวลาที่พวกเค้าจะต้องทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เช่น คุณครูจะตั้งเวลาไว้ 5 นาที เมื่อเด็ก ๆ ได้ยินเสียงสัญญานของเวลานั่นหมายถึงว่ามันเป็นเวลาเก็บของเล่นแล้วนะคะ
ข้อมูลหนังสือ
ISBN 9786167058436
ผู้แต่ง ปิยวลี ธนเศรษฐกร
ชื่อเรื่อง 101 เคล็ดวิธี สร้างเด็กดี มีความสุข/ปิยวลี ธนเศรษฐกร
พิมพลักษณ์ Than Books (ฐานบุ๊คส์): กรุงเทพฯ, 234
รูปเล่ม 234 หน้า
หัวเรื่อง เด็ก--การดูแล
หัวเรื่อง เด็ก--จิตวิทยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น