24.3.55

กล้วย ผลไม้สร้างความสุขและป้องกันโรคอัลไซเมอร์

567031-img-4


โดย  เคหการเกษตร

ข้อมูล   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
กล้วย ผลไม้เมืองร้อนที่มีให้รับประทานได้ตลอดทั้งปี รับประทานได้ดีทั้งในเด็กทารกแรกเกิดไปจนถึงวัยชรา  กล้วยที่นิยมรับประทานในบ้านเรามีหลายพันธุ์ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยหักมุก ซึ่งล้วนอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารมากน้อยแตกต่างกันไป ประโยชน์ของการรับประทานกล้วยที่ทราบกันดีคือ ช่วยแก้อาการท้องผูก แก้อาการเมาค้าง ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด และยังลดความเครียด ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าเนื่องจากมีโพแทสเซียมอยู่ในปริมาณสูง

 



จากรายงานวิจัยชุดโครงการ Thai Fruit  Functional Fruit  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่า กล้วยมีสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น แคทเตชินและฟลาโวนอยด์ การรับประทานกล้วย 1 ผล จะได้รับสารออกฤทธิ์ดังต่อไปนี้

สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ                                         ไมโครกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
กล้วยไข่                    กล้วยน้ำว้า                    กล้วยหอม
Epigallocatechin (EGC)                               34.75                          170.12                        135.03
Catechin                                                     128.13                          57.38                          79.33
Epigallocatechin 3-gallate (EGCG)             300.61                         352.93                        170.90
Epicatechin (EC)                                          ND                               65.95                          71.69
Epicatechin 3-gallate (ECG)                      163.00                          787.51                        249.92
Myricetin                                                    435.06                         518.32                          85.15
Luteolin                                                        24.90                            ND                              23.25
Hesperetin                                                  550.21                         250.34                        468.83
Kaemferol                                                   329.43                         352.82                        629.91
Apigenin                                                     344.82                          472.69                        301.91
ND  =  ตรวจไม่พบ
กล้วยไข่ หนึ่งหน่วยบริโภค = 1 ผลกลาง น้ำหนัก 48 กรัม ส่วนที่รับประทานได้
กล้วยน้ำว้า หนึ่งหน่วยบริโภค = 1 ผลกลาง น้ำหนัก 53 กรัม ส่วนที่รับประทานได้
กล้วยหอม หนึ่งหน่วยบริโภค = ? ผลกลาง น้ำหนัก 53 กรัม ส่วนที่รับประทานได้

จากการศึกษาวิจัยพบว่า กล้วยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี นอกจากสารต้านอนุมูลอิสระที่พบทั่วไปในผลไม้ยังพบโดปามีน ซึ่งมีฤทธิ์แรงพอๆ กับวิตามินซี การทดสอบในอาสาสมัครสุขภาพดี 20 คน พบว่าสามารถลดปริมาณ LDL และ VLDL ซึ่งเป็นไขมันไม่ดี และช่วยเพิ่มปริมาณ HDL ซึ่งเป็นไขมันที่ดีในเลือดได้ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ และกล้วยยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเทอเรส จึงช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งปัจจุบันพบมากในผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ การรับประทานกล้วยยังช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการกินยาแอสไพรินได้ และยังมีผลต่อการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยพบว่าสามารถเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ภูมิคุ้มกันได้ การทดลองในหนูพบว่ากล้วยช่วยยับยั้ง angiotensin converting enzyme (ACE) จึงได้มีการทดลองในอาสาสมัคร โดยให้รับประทานกล้วยวันละ 1 ผล 6 วัน สามารถช่วยลดความดัน โดยการยับยั้ง ACE นอกจากนี้ ยังช่วยลดคอเรสเตอรอลในเลือด และสามารถป้องกันเซลล์ประสาทจากภาวะ oxidative stress
เมื่อทราบประโยชน์ของกล้วยแล้วก็ควรรับประทานกล้วยเป็นประจำ หรือมีติดไว้เป็นผลไม้สามัญประจำบ้านก็ยิ่งดี เพราะกล้วยเป็นผลไม้ดี มีประโยชน์ ราคาไม่แพงด้วย

source: http://www.kehakaset.com/index.php?option=com_content&view=article&id=240:2011-04-26-03-44-51&catid=38

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น